ช่วยเต็มที่!! รัฐบาลเตรียมระบบขนส่ง-จราจรอำนวยความสะดวก “โมโตจีพี” ที่บุรีรัมย์

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังจากการประชุมเตรียมความพร้อมสนับสนุนการแข่งขัน โมโตจีพี 2018 ว่า งานดังกล่าวเป็นงานที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 5 – 7 ตุลาคม 2561 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ดังนั้นจึงสั่งการให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการแข่งขันโมโตจีพี

เริ่มจากการเตรียมความพร้อมทางถนนได้สั่งการให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ติดตั้งป้ายแนะนำเส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร จำนวน 13 สายทาง และกรมทางหลวง (ทล.) ปรับปรุงขยายเส้นทางหลวงเข้าออกจังหวัดบุรีรัมย์ให้มีความสะดวกและความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น อาทิ ทางหลวงหมายเลข 219 288 218 2074 และ 226 เป็นต้น

ขณะที่ด้านการเตรียมความพร้อมระบบขนส่งทางอากาศนั้นได้สั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ดำเนินการก่อสร้างลานจอดอากาศยานเพิ่มเติมทำให้สามารถจอดอากาศยานแบบโบอิ้ง 737 ได้ 6 ลำ จากเดิมจอดได้ 2 ลำ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสาร

สำหรับพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร รวมทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและปลอดภัย อาทิ รถดับเพลิงพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเที่ยวบินเช่าเหมาระหว่างประเทศ และจัดเตรียมพื้นที่จอดรถสำหรับรถทั่วไป รถรับจ้าง และจุดจอดสำหรับรถ ชัตเติ้ลบัส รับ – ส่งระหว่างท่าอากาศยานกับสนามแข่งขัน

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ท่าอากาศยานบุรีรัมย์มีสายการบิน 2 สายทำการบิน ได้แก่ สายการบินนกแอร์ ทำการบินวันละ 3 เที่ยวบิน ด้วยอากาศยานแบบ Q400 ความจุ 86 ที่นั่ง หรือโบอิ้ง 737 ความจุ 189 ที่นั่ง และสายการบินไทยแอร์เอเชีย ทำการบินวันละ 2 เที่ยวบิน ด้วยอากาศยานแบบ A320 ความจุ 180 ที่นั่ง โดยในระหว่างวันที่ 2 – 9 ต.ค. 2561 จะเพิ่มเที่ยวบินอีกวันละ 1 เที่ยวบิน เป็นวันละ 3 เที่ยวบิน

นอกจากนี้ ในช่วงดังกล่าว จะมีเที่ยวบินเช่าเหมาของสายการบินไทยสไมล์ ทำการบินมาที่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ จำนวน 6 เที่ยวบิน สายการบินบางกอกแอร์เวย์ทำการบิน 2 เที่ยวบิน และสายการบิน M JET ทำการบิน 1 เที่ยวบิน ซึ่งจำนวนที่นั่งเพียงพอกับความต้องการในการเดินทางทางอากาศเพื่อเข้าร่วมงานโดยจำนวนเที่ยวบินพิเศษที่เพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว มีจำนวน 17 เที่ยวบิน (ไปและกลับ รวมเป็นจำนวน 34 เที่ยวบิน) นอกเหนือจากเที่ยวบินประจำที่ให้บริการอยู่ตามปกติ

นายอาคม กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมการขนส่งทางรางนั้นได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เพิ่มตู้โดยสารในขบวนรถปกติ ซึ่งให้บริการวันละ 24 ขบวน ในเส้นทางกรุงเทพฯ – อุบลราชธานี – กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 4 – 8 ต.ค.นี้

สำหรับจอดรถบัส ขณะที่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.)จะรับหน้าที่ดูแลการจัดรถ ชัตเติ้ล บัส จำนวน 7 เส้นทาง ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนี้
1. ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ – สนามช้างอารีน่า ระยะทาง 37.4 ก.ม.
2. สถานีรถไฟบุรีรัมย์ – สนามช้างอารีนาา ระยะทาง 5.8 ก.ม.
3. สถานีขนส่ง – สนามช้างอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต ระยะทาง 13.3 ก.ม.
4. มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ – สนามช้างอารีน่า ระยะทาง 3.5 ก.ม.
5. องค์การบริหารส่สนจังหวัดบุรีรัมย์ – สนามช้างอารีน่า ระยะทาง 3 ก.ม.
6. ศูนย์ราชการบุรีรัมย์ – สนามช้างอารีน่า ระยะทาง 3.5 ก.ม.
7. มณฑลทหารบกที่ 26 – สนามช้างอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต ระยะทาง 3.8 ก.ม.

นอกจากนี้ได้จัดสรรเส้นทางสำหรับรถเวียน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. แยกกระสัง – สนามช้างอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต ประตู 2 2. วงเวียน ร.1 – สนามช้างอารีน่า 3. แยกภัทร – สนามช้างอารีน่า

ขอบคุณภาพ และข้อมูลจาก motogp.com และโพสต์ทูเดย์

 

Leave a Reply